วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

โครงงานทางประวัติศาสตร์

โครงงานทางประวัติศาสตร์
เรื่อง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดสงขลา


คณะผู้จัดทำโครงการ

1.นางสาวพัชรินทร์ เพชรรัตน์ เลขที่ 1
2.นางสาวยลมน ทองเรือง เลขที่ 22
3.นางสาวนิธินันท์ คันธวงศ์ เลขที่ 27
4.นางสาวกรกนก สะแลแม เลขที่ 29
5.นางสาวรติมา เกษราพงศ์ เลขที่ 31
ชันมัธยมศึกษาปีที่ 5 / 8

เสนอ

อาจารย์การุณย์ สุวรรณรักษา

=======================================================

ที่มาและเหตุผล

เนื่องจากปัจจุบันนี้โลกได้ปิดกว้างรับเอาสิ่งใหม่ๆ จากหลายที่มา ไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกประเทศ ถ้าอยากจะหาดูของโบราณ ทุกคนก็ต้องนึกถึงสิ่งเดียวกันนั้นคือ พิพิธภัณฑ์ และในจังหวัดสงขลาของเราก็มี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดสงขลา ด้วยเหตุนี้สมาชิกในกลุ่มของเราเลยตัดสินใจที่จะยกเอาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดสงขลา มาศึกษาหาข้อมู เพื่อเป็นแนวทางการศึกษาให้กับบุคคลอื่นต่อไป


จุดมุ่งหมายของการศึกษา

1.เพื่อได้ศึกษาประวัติศาสตร์โดยใช้ขั้นตอนวิธีการทางประวัติศาสตร์เป็นแนวทางใน การศึกษา
2.เพื่อทราบประวัติความเป็นมาและจุดมุ่งหมายของการสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดสงขลา
3. เพื่อทราบประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดสงขลา
4. เพื่อนำเสนอข้อมูลให้กับผู้ที่สนใจและต้องการจะนำไปศึกษาต่อ


วิธีการดำเนินงาน

ขั้นตอนวิธีการทางประวัติศาสตร์

ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดเป้าหมาย: กำหนดหัวข้อเรื่องซึ่งศึกษาเกี่ยวกับ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดสงขลา” บริเวณหน้ากำแพงเมืองเก่าและแบ่งหน้าที่ให้กับสมาชิกในกลุ่ม
ขั้นตอนที่ 2 การรวบรวมข้อมูล: รวบรวมข้อมูลโดยการสำรวจพื้นที่ , ถ่ายรูป, จดบันทึกข้อมูลที่ได้ศึกษาจากพื้นที่จริงบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดสงขลา และหาข้อมูลเพิ่มเติมในอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติม
ขั้นตอนที่ 3 การประเมินคุณค่าของหลักฐาน: ตรวจสอบข้อมูลที่หาได้จากอินเทอร์เน็ตและข้อมูลที่ได้จากการจดบันทึกว่าถูกต้องหรือไม่
ขั้นตอนที่ 4 วิเคราะห์ข้อมูลและตีความข้อมูล: เมื่อ หาข้อมูลที่เกี่ยวข้องพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดสงขลา แล้วจึงนำมาวิเคราะห์โดยสมาชิกในกลุ่มอีกทีหนึ่ง เพื่อจะนำเสนอส่วนใดบ้างและเพิ่มเติมเนื้อหาส่วนที่ขาดไปให้ถูกต้องครบถ้วน
ขั้นตอนที่ 5 นำเสนอผลงาน

วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้

1.) สมุดจดบันทึก เพื่อบันทึกข้อมูลที่จำเป็นต่อการนำมาวิเคราะห์
2.) กล้องถ่ายรูป
3.) ปากกา ดินสอ

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1.เพื่อนำขั้นตอนทางประวัติศาสตร์มาปรับใช้กับ การศึกษาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดสงขลา
2.ทราบประวัติความเป็นมาและความสำคัญของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดสงขลา
3.ทราบประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์
4.ผู้ที่นำไปศึกษาสามารถนำความรู้ที่ได้นั้นไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาได้จริง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดสงขลา






ประวัติความเป็นมา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองเก่าสงขลา ทิศเหนือจดถนนรองเมือง ทิศใต้จดถนนจะนะ ทิศตะวันออกจดถนนไทรบุรี ทิศตะวันตกจดถนนวิเชียรชม ห่างจากทะเลสาบสงขลา ประมาณ 200 เมตร พื้นที่ 11 ไร่ 21.7 ตารางวา อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา เดิมเป็นบ้านของพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2421 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ การสร้างบ้านสันนิษฐานว่าใช้เวลาหลายปี จากหลักฐานที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธุ์วงศ์วรเดช ได้บันทึกไว้ในเรื่อง ชีวิวัฒน์เกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวที่ต่าง ๆ เมื่อ พ.ศ. 2427 ความว่า “ที่มุมเมืองนอกกำแพงด้านเหนือตะวันตก มีตึกหมู่หนึ่งหันหน้าลงน้ำ ไกลน้ำประมาณ 4 – 5 เส้น เป็นตึก 2 ชั้น วิธีช่างทำ ทำนองตึกฝรั่งยังทำไม่แล้วเสร็จ ข้างในเป็นตึก 2 ชั้น 3 หลัง วิธีช่างทำ ทำนองจีนแกมฝรั่ง ทำเสร็จแล้ว มีกำแพงบ้านก่ออิฐเป็นบริเวณ บ้านตึกหมู่นี้เป็นบ้านหลวงอนันตสมบัติ บุตรพระยาสุนทรา บิดาได้ทำไว้ยังค้างอยู่” ได้ใช้เป็นบ้านพักส่วนตัวของตระกูล ณ สงขลา และในปี พุทธศักราช 2447 (ร.ศ.123) ทางรัฐบาลได้ซื้ออาคารดังกล่าวจาก พระอนันตสมบัติ ( เอม ณ สงขลา) บุตรพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ในราคา 28,000 บาท เพื่อใช้เป็นศาลามณฑลนครศรีธรรมราช จากการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล ในปี พ.ศ.2439 ได้ตั้งเป็นมณฑลนครศรีธรรมราช ศูนย์บัญชาการอยู่ที่สงขลา พระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นผู้บัญชาการมณฑล เจ้าเมืองสงขลาถูกเปลี่ยนตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการเมือง ขึ้นตรงต่อผู้บัญชาการมณฑล และได้ใช้อาคารนี้เป็นที่ว่าการมณฑลนครศรีธรรมราช จนถึงพุทธศักราช 2460 ได้มีการเปลี่ยนระบบบริหารราชการแผ่นดินใหม่ ให้ใช้คำว่า จังหวัด แทนชื่อเมือง เมืองสงขลาจึงเป็นจังหวัดสงขลา ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองเปลี่ยนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ยังขึ้นกับมณฑลนครศรีธรรมราช ต่อมาปี พ.ศ. 2476 มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบประชาธิปไตย จังหวัดสงขลาจึงมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในราชอาณาจักรไทย ยังคงใช้อาคารนี้เป็นที่ทำการศาลากลางจังหวัดสงขลา ถึง พ.ศ. 2496 จึงย้ายที่ทำการศาลากลางจังหวัดสงขลาไปอยู่ ณ ถนนราชดำเนินปัจจุบัน ตัวอาคารหลังนี้จึงถูกทิ้งร้างอยู่หลายปี วันที่ 6 มิถุนายน 2516 กรมศิลปากร จึงประกาศขึ้นทะเบียนอาคารแห่งนี้เป็นโบราณสถานและได้ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามกุฏราชกุมาร เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา วันที่ 25 กันยายน 2525







ลักษณะสถาปัตยกรรมของอาคาร

อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนผสมยุโรป สร้างเป็นตึกก่ออิฐสอปูน 2 ชั้น บ้านหันหน้าไปทางทิศตะวันตก หันหน้าสู่ทะเลสาบสงขลา ลักษณะตัวบ้านยกสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร ปลูกเป็นเรือนหมู่ 4 หลัง เชื่อมติดกันด้วยระเบียงทางเดิน มีบันไดขึ้น2 ทาง คือด้านหน้าและตรงกลางลานด้านใน กลางบ้านเป็นลานเปิดโล่งสำหรับปลูกต้นไม้หรือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ด้านหน้าอาคารมีสนามและมีอาคารโถงขนาบสองข้าง ด้านหลังมีสนามเช่นเดียวกัน พื้นที่โดยรอบอาคารเป็นสนามหญ้าและสวนมีกำแพงโค้งแบบจีนล้อมรอบ อาคารชั้นบน ห้องยาวด้านหลัง มีบานประตูลักษณะเป็นบานเฟี้ยม แกะสลักโปร่งเป็นลวดลายเล่าเรื่องในวรรณคดีจีน สลับลายพันธุ์พฤกษา หรือลายมังกรดั้นเมฆ เชิงไข่มุกไฟ ส่วนหัวเสาชั้นบนของอาคารมีภาพเขียนสีเป็นภาพเทพเจ้าจีน หรือลายพฤกษา ภายในห้องตรงขื่อหลังคา จะมีเครื่องหมายหยินหยาง โป้ยป้อ หรือ ปากั้ว เพื่อป้องกันภยันตรายต่าง ๆ ตามคตินิยมของชาวจีน หลังคามุงกระเบื้องสองชั้นฉาบปูนเป็นลอน สันหลังคาโค้ง ปลายทั้งสองด้านเชิดสูงคล้ายปั้นลมของเรือนไทย ภายนอกอาคาร บริเวณผนังใต้จั่วหลังคา มีภาพประติมากรรมนูนต่ำสลับลายภาพเขียนสี เป็นรูปเทพเจ้าจีนและลายพันธุ์พฤกษา

============================================================


ความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์


พิพิธภัณฑ์ ความหมายของพิพิธภัณฑ์ " ตามที่สภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ หรือ ICOM (International Council of Museums) ได้ให้คำจำกัดความไว้แล้วว่า " พิพิธภัณฑ์ " คือ หน่วยงานที่ไม่หวังผลกำไร เป็นสถาบันที่ถาวรในการรวบรวม สงวนรักษา ศึกษาวิจัย สื่อสาร และจัดแสดงนิทรรศการ ให้บริการแก่สังคมเพื่อการพัฒนา โดยมีความมุ่งหมายเพื่อการค้นคว้าการศึกษา และความเพลิดเพลิน โดยแสดงหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับมนุษย์และสภาพแวดล้อม สิ่งซึ่งสงวนรักษาและจัดแสดงนั้นไม่ใช่เป็นเพียงวัตถุ แต่ได้รวมถึงสิ่งที่มีชีวิตด้วยโดยรวมไปถึง สวนสัตว์ สวนพฤกษชาติ วนอุทยาน สถานที่สงวนสัตว์น้ำ และสถานที่อันจัดเป็นเขตสงวนอื่นๆ รวมทั้งโบราณสถานและแหล่งอนุสรณ์สถาน ศูนย์วิทยาศาสตร์และท้องฟ้าจำลอง "
จะเห็นได้ว่า คำจำกัดความของพิพิธภัณฑ์นั้นกว้างมาก ครอบคลุมทั้งด้านวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และธรรมชาติ พิพิธภัณฑ์นั้นแบ่งได้หลายแบบและบางแห่งก็จัดได้หลายประเภท เช่น ๑) แบ่งตามการสะสมรวบรวมวัตถุ ( Collection) ๒) แบ่งตามต้นสังกัดหรือการบริหาร เช่น พิพิธภัณฑ์ของรัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย ๓) แบ่งตามลักษณะของผู้เข้าชมหรือกลุ่มเป้าหมาย เช่น นักเรียน นักศึกษา หรือบุคคลทั่วไป หรือ ๔) แบ่งตามการจัดแสดง เช่น พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง พิพิธภัณฑ์แหล่งโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ฯลฯ


แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะประเภทของพิพิธภัณฑ์ที่แบ่งตามการจัดแสดง และวัตถุประสงค์ที่ใช้ในการจัดแสดง ซึ่งเป็นที่นิยมกันทั่วไปในปัจจุบัน คือ
๑. พิพิธภัณฑสถานประเภททั่วไป จะรวบรวมวัตถุทุกประเภท และทุกเรื่องเอาไว้ ถือเป็นพิพิธภัณฑ์แบบแรกก่อนที่จะมีการพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์เฉพาะเรื่องในสมัยต่อมา
๒. พิพิธภัณฑสถานศิลปะ จัดแสดงเกี่ยวกับศิลปวัตถุทุกประเภท โดยจะแยกย่อยออกเป็น พิพิธภัณฑสถานศิลปประยุกต์ แสดงวัตถุที่เป็นงานฝีมือ เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ หอศิลป์ แสดงงานศิลปะประเภทจิตรกรรม ประติมากรรม, พิพิธภัณฑสถานศิลปะสมัยใหม่จะคล้ายกับหอศิลป์ แต่จะเป็นศิลปะสมัยใหม่ของศิลปินร่วมสมัยในยุคหลัง, พิพิธภัณฑสถานศิลปะประเภทการแสดง และพิพิธภัณฑสถานศิลปะแรกเริ่ม แสดงงานศิลปะดั้งเดิมของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์
๓. พิพิธภัณฑสถานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื้อหาหลักคือแสดงวิวัฒนาการความก้าวหน้าของวัตถุที่มนุษย์คิดค้นประดิษฐ์ขึ้น
๔. พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา จัดแสดงเรื่องราวของธรรมชาติเกี่ยวกับเรื่องของโลก ทรัพยากรทางธรรมชาติต่างๆ และยังรวมไปถึง สวนสัตว์ สวนพฤกษชาติ วนอุทยาน พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ-สัตว์บกด้วย
๕. พิพิธภัณฑสถานประวัติศาสตร์ แสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แยกย่อยได้เป็นพิพิธภัณฑสถานประวัติศาสตร์ แสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการเมือง ทหาร สังคม และเศรษฐกิจ, บ้านประวัติศาสตร์ คือการนำเสนอสถานที่ซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ที่มีชื่อเสียงในอดีต, โบราณสถาน, อนุสาวรีย์ และสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมต่างๆ รวมถึงเมืองประวัติศาสตร์ และพิพิธภัณฑสถานประวัติศาสตร์โบราณคดี
๖. พิพิธภัณฑสถานชาติพันธุ์วิทยาและประเพณีพื้นเมือง แสดงชีวิตความเป็นอยู่ในทางวัฒนธรรมและสังคมของมนุษย์และชาติพันธุ์ต่างๆ แบ่งออกเป็น พิพิธภัณฑสถานพื้นบ้าน (พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น) โดยจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้าน และพิพิธภัณฑสถานกลางแจ้ง เป็นการจำลองภาพในอดีตด้วยการนำอาคารเก่า หรือจำลองสิ่งปลูกสร้างต่างๆ มาไว้ในบริเวณเดียวกัน โดยพยายามสร้างสภาพแวดล้อมรวมถึงบรรยากาศให้เหมือนเช่นในอดีต

ปัญหาของพิพิธภัณฑ์

เนื่องจากพิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งสะสมความรู้ และมีบทบาทหน้าที่ ที่ต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงาน องค์กรและสถาบันมากมาย อีกทั้งตัวของพิพิธภัณฑ์เองยังมีหน้าที่สะสมศิลปวัตถุและจัดแสดงเผยแพร่แก่ประชาชนได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ ต้องจัดทำโครงการเพื่อการศึกษาต่างๆ พร้อมทั้งต้องหาทุนเพื่อมาใช้จ่ายภายในพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์ย่อมมีปัญหาที่เกิดขึ้นภายในหน่วยงานของพิพิธภัณฑ์เอง และจากสภาวะภายนอกที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์ซึ่งพอจะจำแนกปัญหาใหญ่ๆ คือ ปัญหาด้านบทบาทและหน้าที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันว่าพิพิธภัณฑ์ควรจะให้บริการด้านวิชาการหรือมีบทบาทเพื่อผลประโยชน์ในการสอนให้ผู้ดูเกิดความรู้โดยตรง แต่เป็นที่สร้างเสริมให้บุคคลเกิดความสุนทรียภาพในหัวใจเป็นสำคัญ


ปัจจุบันนี้ส่วนที่ดีก็คือมีประชาชนต้องการการบริการของพิพิธภัณฑ์มากขึ้น ซึ่งต่างคนก็ต่างที่มา มีความต้องการต่างๆ กัน ไม่มีการจัดแบ่งด้านการให้ความรู้ทางพิพิธภัณฑ์อย่างเคร่งครัดตายตัวตามแบบแผนในอดีตอีกต่อไป ไม่เกิดการแบ่งแยกระหว่างความต้องการของนักท่องเที่ยวธรรมดากับผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ ในปัจจุบัน ผู้คนจึงเข้าชมพิพิธภัณฑ์ด้วยความเพลิดเพลิน เพื่อค้นหา ความรู้ ข้อมูล และเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์ จึงต้องพยายามปรับเปลี่ยนบทบาทของตนในหลักการนิยามใหม่ ส่วนข้อเสียนั้นคือการเปลี่ยนแปลงตัวเองของพิพิธภัณฑ์เพื่อรองรับความต้องการ ของคนในปัจจุบันกลายเป็นเรื่องที่ต้องแข่งขันกันเหมือนอยู่ในสมรภูมิรบ พร้อมกับความพยายามที่จะดำรงไว้ซึ่งการรักษาประวัติศาสตร์และการตัดสินปัญหาของวัฒนธรรมประชาธิปไตยอันเป็นหน้าที่สำคัญ ของพิพิธภัณฑ์ โดยแทบไม่ทันสังเกตุ


ปัญหาด้านการสนับสนุนจากสังคม สำหรับพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย สุจิตต์ วงษ์เทศ (25247 : 52-61 ) กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์ที่กรมศิลปากร จัดทำอยู่ในประเทศไทยทุกวันนี้เป็นเพียงรูปแบบหนึ่ง ในจำนวนมากมายหลายรูปแบบจุดด้อยมีเพียงกรมศิลปากรได้ จัดพิพิธภัณฑ์ได้เพียงรูปแบบเดียวทำให้คนส่วนใหญ่เบื่อพิพิธภัณฑ์ ทำให้คำว่า พิพิธภัณฑ์ กลายเป็นเรื่องล้าสมัย ประชาชนและรัฐบาลจึงไม่ได้ให้ความสำคัญต่อพิพิธภัณฑ์เท่าที่ควร
ในปัจจุบันประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์อยู่เพียง 200 แห่ง เป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ 39 แห่ง ซึ่งนับว่าต่ำมากหากเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว (สานปฏิรูป 2541 : 10) ประชาชน มีความเห็นว่าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติมีปัญหาในการด้านการ บริหารจัดการ ลักษณะการจัดแสดงที่ไม่น่าสนใจ ซ้ำซากจำเจ การจัดกิจกรรม, นิทรรศการ หมุนเวียน มีน้อย, เวลาเปิดและปิดในการเข้าชมไม่สะดวกต่อผู้ชม, การให้ข้อมูลความรู้ชนิดที่ศึกษาได้ด้วยตัวเอง มีน้อย ไม่เป็นอิสระพอ (สานปฏิรูป 2541 : 10)

ปัญหาของพิพิธภัณฑ์ทางด้านเศรษฐกิจ พิพิธภัณฑ์ ในต่างประเทศหลายแห่งที่ต้องปิดตัวเองลง บางแห่งปิดการ บริการเป็นบางส่วน พิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นในยุค 60 ที่เป็นช่วงเศรษฐกิจเพื่องฟู ต้องลดพนักงานลง บางแห่งมีค่าใช้จ่ายสูง จนไม่อาจซื้องานศิลปะใหม่ ๆ ได้อีกรวมทั้งไม่อาจจัดรายการต่าง ๆ ในพิพิธภัณฑ์ได้ด้วย ทั้ง ๆ ที่พิพิธภัณฑ์กำลังเป็นที่สนใจของประชาชนในด้านศิลปะมากขึ้น และกำลังสื่อสารให้สังคมเห็นประโยชน์ของพิพิธภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ภาวะปัญหาทางด้านการเงินทำให้พิพิธภัณฑ์ไปได้ไม่ไกล(Newsom, 1975:50-51) ซึ่งปัญหาด้านนี้ก็เกิดขึ้นกับประเทศเราเช่นกัน

========================================================================

ประมวลภาพการศึกษาแหล่งเรียนรู้
บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดสงขลา













ขอบคุณข้อมูลจาก

http://th.wikipedia.org/wiki/
www.hamanan.com/tour/songkhla/pipittaphunsongkhla.html
www.nsm.or.th/
และหนังสือแนะนำพิพิธภัณฑ์ จังหวัดสงขลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น